6 ข้อควรรู้ ! ก่อนส่งไฟล์งานให้โรงพิมพ์

6 ข้อควรรู้ ! ก่อนส่งไฟล์งานให้โรงพิมพ์

29 ม.ค. 2564   ผู้เข้าชม 1,568

หลายครั้งที่การส่งไฟล์ให้โรงพิมพ์มักเกิดปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สีเพี้ยน ฟอนต์เคลื่อน ภาพไม่คมชัดเหมือนตามที่คิดไว้ หรือแม้แต่งานโดนตัดตกไปโดยแบบไม่รู้ตัว คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ แต่ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปหากคุณได้ลองอ่านบทความนี้ เพราะลานนาการพิมพ์มีเคล็ดลับดี ๆ มาบอกก่อนส่งไฟล์งานให้โรงพิมพ์ รับรองได้เลยว่าทำตามนี้งานคุณไม่มีพัง มีแต่จะปังอย่างแน่นอนค่ะ ! 

1. โหมดสีตรงกับโรงพิมพ์หรือไม่ ?

ก่อนจัดส่งงานให้กับโรงพิมพ์ เช็คก่อนว่าไฟล์งานของคุณจะต้องอยู่ในโหมดสี CMYK เพราะเป็นโหมดสีมาตรฐานของเครื่องพิมพ์ในโรงพิมพ์ทุก ๆ ที่ ดังนั้นคุณจะต้องแน่ใจก่อนว่างานของคุณอยู่ในโหมดสีที่ถูกต้อง เพื่อที่จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์ งานพิมพ์สีเพี้ยนไม่เป็นดั่งใจหวังค่ะ

CMYK หรือ แม่สีทางการพิมพ์ คือ ระบบสีในเครื่องพิมพ์ที่นิยมมากในปัจจุบัน เพราะสามารถสร้างสีได้อย่างหลากหลาย โดยการพ่นหมึกผสมกันลงบนกระดาษ หากลองนำกระดาษขึ้นมาซูมดูก็จะเห็นว่าเครื่องพิมพ์มีการพ่นสีออกมาเป็นจุดเล็ก ๆ เรียงต่อกันและผสมเป็นสีต่าง ๆ ตามที่เราต้องการได้อย่างสวยงามเลยค่ะ

คำเตือน : หากต้องการให้งานพิมพ์ของคุณมีสีที่สวยและตรงตามความต้องการแนะนำให้ใช้กระดาษที่มีพื้นหลังสีขาว หรือสีที่อ่อนมาก ๆ เพื่อที่จะได้ไม่เกิดสีที่เพี้ยนหรือสีตุ่นค่ะ

2. Resolution มากพอไหม ?

Resolution หรือที่เรียกกันว่า “ความละเอียดของภาพ” ที่มีหน่วยเป็น DPI (Dots Per Inch) ที่ใช้วัดค่าความละเอียดของรูปภาพในสื่อสิ่งพิมพ์ หากจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ยิ่ง DPI มีค่ามากเท่าไร ความละเอียดก็ยิ่งมากเท่านั้น แต่การที่ความละเอียดยิ่งมากขึ้นก็ต้องแลกมาด้วยขนาดไฟล์งานที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกันค่ะ สำหรับการตั้งค่าความละเอียดของภาพในงานพิมพ์มักจะนิยมตั้งกันอยู่ที่ 300 DPI ดังนั้นหากคุณต้องพิมพ์งานที่มีความละเอียดของภาพที่สูงอย่าลืมตั้งค่าตามนี้กันนะคะ

3. ห้ามลืม ! ระยะขอบและระยะตัดตก

ระยะขอบและระยะตัดตก (Margin&Bleed) หรือที่เรียกกันว่า “ระยะปลอดภัย” เป็นการกำหนดเส้นในการออกแบบงานว่าควรออกแบบอยู่ในพื้นที่ไหนถึงจะปลอดภัยและควรเผื่อระยะตัดตกไว้ป้องกันขอบขาวที่เกิดจากการคลาดเคลื่อนในการตัดกระดาษจำนวนมากในโรงพิมพ์

ระยะขอบ (Margin) คือ พื้นที่ว่างด้านในของชิ้นงาน ที่คุณสามารถออกแบบ วาดลวดลายและใส่ความคิดสร้างสรรค์ที่สำคัญได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ถูกใบมีดของเครื่องตัดกระดาษตัดออกไปอย่างแน่นอน

ระยะตัดตก (Bleed) คือ ระยะที่อยู่ภายนอกของชิ้นงานหรือ Artboard ในงานออกแบบของคุณ ทำให้ต้องมีการเทสีหรือพื้นหลังต่าง ๆ เผื่อออกมาในระยะนี้ด้วย เพื่อที่จะป้องกันการเกิดขอบขาวของกระดาษที่ตัดเหลือออกมา

ในการตั้งค่าหน้ากระดาษหรือ Artboard ควรตั้งค่าระยะขอบและตัดตกอย่างน้อง 3 มิลลิเมตร ในทุกด้าน (top bottom left right) เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นค่ะ

4. Create Outline ไว้ก่อนดีกว่า

ในการออกแบบไฟล์ส่งโรงพิมพ์ทุกครั้ง อย่าลืมที่จะ Create Outline หรือ Create Font ก่อนเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อนำไฟล์นั้นไปเปิดบนเครื่องคอมพิวเตอร์อื่นค่ะ แต่อย่าลืมว่าเมื่อคุณ Create Outline ไปแล้วก็จะไม่สามารถที่จะกลับมาแก้ไขได้ ดังนั้นคุณจะต้องตรวจสอบชิ้นงานให้เรียบร้อยเสียก่อนทุกครั้งก่อน Create Outline ค่ะ

5. อย่าลืมฝังไฟล์ในงาน

ทุกการส่งไฟล์งานที่ไม่ใช่ PDF ให้โรงพิมพ์อย่าลืมฝังไฟล์ต่าง ๆ ไปพร้อมกับงานด้วยนะคะ เพื่อป้องกันปัญหาการหาไฟล์รูปภาพไม่เจอ หรือสูญหาย ทำให้รูปภาพที่ปรากฎมานั้นไม่ชัดและพิมพ์ออกมาแบบไม่ได้คุณภาพค่ะ

Tips การฝังไฟล์ใน Adobe Illustrator แบบรวดเร็วพร้อมส่งโรงพิมพ์

  1. เปิดไฟล์งานในโปรแกรม Adobe Illustrator (.ai)
  2. ตรวจสอบรูปภาพทั้งหมดใน Artwork ว่าถูกต้องไหม
  3. กด File > Save (ครั้งแรก) หรือ Save As 
  4. เมื่อขึ้นหน้าต่าง Illustrator Options ให้ดูที่ช่อง Options ติ๊กเลือก “Include Linked File” และกด OK

เพียงเท่านี้คุณก็พร้อมนำไฟล์งานของคุณส่งให้โรงพิมพ์ได้เหมือนมืออาชีพแล้วค่ะ

6. เทคนิคพิเศษงานพิมพ์

เพื่อต้องการให้สื่อสิ่งพิมพ์ของคุณมีความโดดเด่นและสะดุดตาก็อย่าลืมเลือก “เทคนิคงานพิมพ์พิเศษ” ลงไปบนงานด้วยนะคะ แต่...หลายคนคงอาจสงสัยว่าเทคนิคการพิมพ์พิเศษนี้คืออะไร ลานนาการพิมพ์จะพาคุณมาทำความรู้จักกันก่อนเพื่อที่จะได้เกิดความเข้าใจให้ตรงกันค่ะ

เทคนิคพิเศษงานพิมพ์ คือ การเพิ่มเทคนิคต่าง ๆ ลงไปบนสื่อสิ่งพิมพ์ของเราให้มีความสวยงามมากขึ้นด้วยวิธีการดังนี้

  • การเคลือบเงาหรือด้าน

    คือ การนำฟิล์มมาเคลือบลงบนกระดาษที่พิมพ์ลงไป ซึ่งการเคลือบเงาหรือเคลือบด้านนี้มีคุณสมบัติที่จะช่วงป้องกันละอองน้ำให้แก่ชิ้นงานของคุณ และช่วยเพิ่มความสวยงามและสร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับชิ้นงานมากยิ่งขึ้นอีกด้วยค่ะ 

  • Spot UV

    คือ การเคลือบเงาเหมือนกับเทคนิคข้างบน แต่เทคนิค Spot UV นั้นจะมีความแตกต่างตรงที่สามารถออกแบบได้ว่าคุณต้องการเคลือบชิ้นงานตำแหน่งไหนบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการเคลือบเฉพาะรูปที่ต้องการ หรือเคลือบเพียงตัวอักษรให้มีความโดดเด่นก็ย่อมได้ค่ะ

  • การปั้มฟอยล์

    คือ การนำฟอยล์สีที่โดนความร้อนมาปั้มทับลงไปบนกระดาษหรือชิ้นงานของเรา ให้มีความประกาย หรูหรา และสวยงามมากยิ้งขึ้น ซึ่งเทคนิคนี้มักจะถูกเรียกอีกชื่อว่า การปั้ม K ทอง หรือการปั้ม K เงิน เพราะเป็นฟอยล์ที่นิยมนำมาใช้ในโรงพิมพ์กันส่วนใหญ่ แต่การปั้มฟอยล์ไม่ได้มีเพียงแค่สีทองและเงินเพียงเท่านั้น คุณสามารถสอบถามรายละเอียดสีต่าง ๆ ของฟอยล์ได้ที่โรงพิมพ์นั้น ๆ ได้เลยว่ามีสีอะไรให้เลือกบ้างค่ะ

  • การปั้มนูน

    คือ การนำแม่พิมพ์มากดทับลงไปบนกระดาษให้เกิดความนูนขึ้นมา ให้เป็นไปตามลักษณะที่ได้ออกแบบไว้ ซึ่งเทคนิคนี้ก็เป็นอีกเทคนิคที่น่าสนใจ เพราะเป็นเทคนิคที่จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ของคุณได้ไม่น้อยเลยค่ะ

  • การไดคัท

    คือ การตัดกระดาษโดยวิธีการกดทับด้วยใบมีดให้กระดาษขาดออกไปและเป็นรูปแบบตามที่คุณต้องการ และยังสร้างเอกลักษณ์และความสวยงามในชิ้นงานนั้น ๆ ให้มีความน่าสนใจอีกด้วยค่ะ

หากคุณลองทำตาม 6 ข้อที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะทำให้การส่งไฟล์งานให้กับโรงพิมพ์ของคุณดูเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น แถมสื่อสิ่งพิมพ์ของคุณเองก็สวย ปัง ไม่น้อยหน้าใครอย่างแน่นอน ! เพราะการตั้งค่าหรือการเตรียมไฟล์ให้พร้อมก่อนส่งโรงพิมพ์ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คุณควรให้ความสำคัญอย่างมาก เพื่อที่จะพิมพ์ได้อย่างรวดเร็วและไม่ต้องเสียเวลามาแก้ไขหลายครั้งค่ะ 

ท่านใดกำลังสนใจที่จะพิมพ์หนังสือ โปสเตอร์ กล่องกระดาษ หรืออื่น ๆ อีกมากมาย ลานนาการพิมพ์ ยินดีให้คำปรึกษาและแนะนำเกี่ยวกับงานพิมพ์ โรงพิมพ์ที่มากพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและทีมงานคุณภาพที่จะช่วยเนรมิตรสื่อสิ่งพิมพ์ของคุณให้ออกมามีคุณภาพค่ะ


สาระน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง