กระดาษที่ใช้ในโรงพิมพ์มีอะไรบ้าง ?

กระดาษที่ใช้ในโรงพิมพ์มีอะไรบ้าง ?

29 ม.ค. 2564   ผู้เข้าชม 2,066

เมื่อพูดถึงกระดาษที่ใช้ในโรงพิมพ์แล้ว หลายคนคงมีปัญหาเกี่ยวกับการเลือกกระดาษที่จะนำมาใช้ให้เข้ากับงาน เพราะกระดาษแต่ละชนิดก็มีจุดเด่นต่างกันไป ซึ่งแน่นอนว่าการเลือกกระดาษให้เหมาะสมกับงาน ก็จะช่วยส่งเสริมให้ผลงานชิ้นโบว์แดงของคุณนั้นมีความสวยงามมากยิ่งขึ้นนั่นเอง 

บทความนี้ ลานนาการพิมพ์ จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับชนิดของกระดาษ ที่นิยมใช้ในโรงพิมพ์ว่ากระดาษแต่ละชนิดมีคุณลักษณะและคุณสมบัติอย่างไร เหมาะกับงานแบบไหน เพื่อที่คุณจะได้ไม่พลาดและเลือกใช้กระดาษได้อย่างเหมาะสมกับงานได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ

เลือกกระดาษในโรงพิมพ์อย่างไรให้งานปัง !

มาดูชนิดของกระดาษในโรงพิมพ์กันโรงพิมพ์กันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง ?

ชนิดของกระดาษในโรงพิมพ์

1.กระดาษเคลือบผิว (Coated Paper)

คือ กระดาษที่มีสารเคลือบอยู่บนพื้นผิวกระดาษ โดยการขัดผิวของหน้ากระดาษให้เรียบเนียนและลงน้ำยาเคลือบทับลงไป ทำให้กระดาษมีพื้นผิวที่มันหรือด้านตามต้องการ โดยกระดาษเคลือบผิวมักนิยม นำมาใช้กับงานที่ต้องการสีสันสดใส 

เพราะเมื่อพ่นสีหมึกลงไปกระดาษจะทำการดูดซับน้ำหมึกและสะท้อนสีของหมึกออกมาได้อย่างสวยงาม ซึ่งกระดาษเคลือบผิวนี้ยังมีคุณสมบัติพิเศษที่ทนต่อละอองน้ำ ความชื้น และสิ่งสกปรกต่าง ๆ ได้ดีกว่ากระดาษชนิดอื่น ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

1.1 กระดาษอาร์ต

ป็นกระดาษที่นิยมนำมาใช้ในงานพิมพ์ที่ต้องการเน้นด้านสีสันจัดจ้าน ฉูดฉาด เหมาะกับการนำไปใช้เป็น หน้าปกหนังสือ กระดาษในหนังสือนิตยสาร โปสเตอร์ เป็นต้น

  • กระดาษอาร์ตมัน 

กระดาษที่ให้งานมีความใกล้เคียงกับสีจริงมากที่สุด เนื้อเรียบและมันวาว

  • กระดาษอาร์ตด้าน 

กระดาษที่ให้งานมีสีซีดลงเล็กน้อย เนื้อเรียบและไม่มันวาว

1.2 กระดาษอาร์ตการ์ด

กระดาษที่มีคุณสมบัติต่าง ๆ เหมือนกับกระดาษอาร์ตไปเสียทุกอย่าง แต่มีความแตกต่างกันที่ความหนาของกระดาษที่เริ่มต้นตั้งแต่ 190-400 แกรม ทำให้มีความแข็งแรงและทนทาน

  • กระดาษอาร์ตการ์ดหน้าเดียว 

กระดาษที่มีพื้นผิวมันวาวเพียงด้านเดียว นิยมนำมาเป็นวัสดุในการทำบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่อง ปกหนังสือ หรือโปสการ์ด

  • กระดาษอาร์ตการ์ดสองหน้า 

กระดาษที่มีพื้นผิวมันวาวและสะท้อน 2 ด้าน เป็นกระดาษที่มีความแข็งแรงน้อยกว่ากระดาษอาร์ตการ์ดหน้าเดียว จึงนิยมนำไปใช้ในงานสิ่งพิมพ์ที่ต้องใช้ความสวยงามและคงทนเล็กน้อย เช่น การ์ดแต่งงาน ถุงกระดาษ แฟ้มกระดาษ เป็นต้น

1.3 กระดาษกล่องแป้ง

  • กระดาษกล่องเเป้งหลังเทาหรือน้ำตาล

กระดาษที่ด้านหนึ่งมีสีขาว และอีกด้านหนึ่งมีสีเทาหรือน้ำตาล เหมาะแก่การนำไปทำกล่องบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กล่องสบู่ ยาสีฟัน เพราะมีความแข็งแรงทนทาน

  • กระดาษกล่องแป้งหลังขาว

กระดาษที่ด้านหนึ่งมีสีขาว และอีกด้านหนึ่งมีสีขาวกว่า สีดูสะอาดตา เหมาะแก่การนำไปทำกล่องบรรจุภัณฑ์ที่ดูสะอาด เรียบหรู

 

2.กระดาษไม่เคลือบผิว (Uncoated Paper)


คือ กระดาษที่ไม่มีสารเคลือบพื้นผิว เมื่อสัมผัสแล้วจะทำให้รู้สึกถึงความเป็นเนื้อกระดาษได้ดีกว่า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ในด้านของความสวยงามเมื่อพิมพ์ลงไปแล้วสีสันอาจจะไม่ฉูดฉาดเท่ากับกระดาษที่เคลือบผิว แต่หากมีการออกแบบมาให้มีความเหมาะสมกับเนื้อกระดาษก็สวยงามไม่แพ้กับกระดาษเคลือบผิวเลยค่ะ ซึ่งกระดาษชนิดนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 7 ประเภท ได้แก่

2.1 กระดาษบรู๊ฟ

กระดาษที่มีเนื้อบางมาก ๆ ฉีกขาดง่าย แต่ก็มีราคาถูกมาก ๆ เช่นกัน นิยมนำไปใช้สำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์

2.2 กระดาษปอนด์

กระดาษที่พื้นผิวมีความละเอียดปานกลาง เหมาะแก่การนำไปเป็นเนื้อในของหนังสือ ไม่ค่อยนิยมพิมพ์สี่สี เพราะสีจะไม่สวยเท่ากระดาษอาร์ต

2.3 กระดาษการ์ดขาว

กระดาษที่ประกอบด้วยกระดาษหลายชั้น ชั้นนอกสองด้านเป็นสีขาว มีลักษณะเหมือนกระดาษปอนด์แต่มีความแข็งแรงทนทานมากกว่า

2.4 กระดาษถนอมสายตา (Green Read Paper)

เป็นกระดาษที่มีความโดดเด่นในเรื่องของสี ที่เป็นสีเหลืองอ่อน นวลตา ดูดกลืนช่วงแสงสีน้ำเงินได้ดี ทำให้อ่านหนังสือได้นานอย่างสบายตา

2.5 กระดาษคราฟท์น้ำตาล

กระดาษที่ใช้เทคโนโลยีการแปลงสภาพจากเนื้อไม้เป็นเยื่อกระดาษ โดยจะได้เนื้อกระดาษที่มีความแข็งแรงกว่ากระดาษชนิดอื่น ๆ จึงเหมาะแก่การนำมาทำบรรจุภัณฑ์

2.6 กระดาษคราฟท์ขาว

กระดาษที่มีกระบวนการผลิตเหมือนกระดาษคราฟท์น้ำตาล เพียงกระดาษคราฟท์สีขาวนั้นเกิดจากการน้ำกระดาษคราฟท์น้ำตาลมาฟอกสีให้เป็นสีขาว

2.7 กระดาษแข็ง หรือ กระดาษจั่วปัง

กระดาษที่มีการผลิตอย่างพิถีพิถัน มีความแข็งแรงและสวยหรู นิยมใช้เป็นอย่างมากในปัจจุบัน โดยนำไปทำเป็นกล่องบรรจุภัณฑ์ที่ทำให้สินค้าดูมีความพรีเมี่ยม เช่น กล่องโทรศัพท์ กล่องเครื่องสำอางค์ต่าง ๆ

 

3.กระดาษสำหรับอาหาร (Food Grade Paper)


คือ กระดาษที่จะต้องมีการสัมผัสกับอาหาร ทำให้นิยมนำมาใช้เป็นวัสดุในการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่อาหารโดยเฉพาะ ซึ่งกระดาษชนิดนี้จะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยจาก FDA (Food And Drug Administration) หรือองกรค์อาหารและยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา 

โดยกระดาษสำหรับใส่อาหารนี้จะต้องเป็นกระดาษที่ผลิตใหม่ ไม่มีการรีไซเคิล และจะต้องไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างเด็ดขาด สามารถพิมพ์ลวดลายได้ตามที่เราต้องการโดยใช้น้ำหมึกพิเศษที่สามารถสัมผัสกับอาหารได้ ซึ่งกระดาษสำหรับอาหารแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่

3.1 กระดาษ MG (Machine Glazed)

กระดาษคราฟท์ ที่มีความบางและมีผิวมันเพียงด้านเดียว สามารถนำเข้าเตาอบและไมโครเวฟได้ นิยมนำไปใช้ในการห่ออาหาร เช่น กระดาษห่อเคบับ แฮมเบอร์เกอร์ แซนด์วิช เป็นต้น

3.2 กระดาษอาร์ตการ์ดหน้าเดียว (Non-OBA)

กระดาษ Food grade ที่ไว้สำหรับทำบรรจุภัณฑ์อาหาร เพราะมีความหนาอยู่ที่ 270-400 แกรม ทำให้มีความแข็งแรงสามารถตั้งเป็นรูปทรงได้อย่างมั่นคง เหมาะสำหรับใส่อาหารได้ทุกประเภทเลยค่ะ

3.3 กระดาษอาร์ตการ์ดเคลือบผิวด้วย PE

กระดาษที่มีคุณลักษณะเหมือนกับกระดาษอาร์ตการ์ดหน้าเดียว แต่มีความแตกต่างตรงที่มีสารเคลือบพื้นผิวด้วย PE ทำให้กระดาษมีความคงทนต่อความชื้น และน้ำมันที่มาจากอาหารได้อย่างดี

3.4 กระดาษอาร์ตการ์ดหน้าขาวหลังน้ำตาล (Frozed)

กระดาษที่มีความแข็งแรงและทนทานต่อสิ่งเร้าอย่างความชื้นและสภาพอากาศที่ติดลบได้เป็นอย่างดี จึงนิยมนำมาเป็นวัสดุในการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารแช่แข็ง

3.5 กระดาษคราฟท์น้ำตาลเคลือบผิวด้วย PE

กระดาษที่มีลักษณะเหมือนกับกระดาษอาร์ตการ์ดเคลือบผิวด้วย PE แต่มีความแตกต่างกันคือกระดาษนี้ทำจากกระดาษคราฟท์น้ำตาล ทำให้มีความเหนียวกว่านั่นเองค่ะ

เมื่อคุณทราบกระดาษที่ใช้ในโรงพิมพ์แล้ว ก็อย่าลืมที่จะเลือกกระดาษให้เหมาะสมกับงานของคุณกันด้วยนะคะ เพื่อที่จะทำให้งานของคุณออกมาโดดเด่นและสวยงามค่ะ

ท่านใดที่กำลังสนใจจะพิมพ์งาน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ โปสเตอร์ หรืองานพิมพ์อื่น ๆ แต่ยังไม่ทราบว่าควรใช้กระดาษแบบไหนในงานของคุณ ลานนาการพิมพ์ยินดีให้บริการค่ะ ทางเราพร้อมให้คำปรึกษาในเรื่องงานพิมพ์ทุกประเภทค่ะ


สาระน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง